เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)
ที่มาของเทคโนโลยีสารสนเทศ
มนุษย์มีความพยายามที่จะพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสารข้อมูลข่าวสารมาตั้งแต่เริ่มกำเนิดของมนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาภาษาพูด หรือการติดต่อโดยการใช้รหัสอื่นๆ เช่น มือ หรือท่าทางต่างๆ คาดคะเนว่าเมื่อห้าแสนปีที่แล้วมนุษย์สามารถส่งสัญญาณท่าทางสื่อสารระหว่างกันและพัฒนามาเป็นภาษา มนุษย์สามารถสร้างตัวหนังสือ และจารึกไว้ตามผนังถ้ำ จนกระทั่งการพัฒนาภาษาเขียนที่เป็นสัญลักษณ์และตัวอักษร นอกจากการพัฒนาการสื่อสารดังกล่าวแล้ว มนุษย์ก็ยังไม่หยุดยั้งในการพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสารทางไกล ซึ่งเกิดขึ้นจากการขยายเผ่าพันธุ์ที่มีจำนวนมากขึ้น การโยกย้ายเพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่ทำให้เกิดความจำเป็นในการติดต่อสื่อสารทางไกล ด้วยความสามารถในการบันทึกข้อความหรือข่าวสารลงในกระดาษหรืออุปกรณ์อื่นๆ ทำให้มนุษย์พัฒนาระบบไปรษณีย์ขึ้นเพื่อใช้เป็นบริการในการติดต่อสื่อสารข่าวสารข้อมูลทางไกล และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการรับส่งข่าวสารให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ต่อมามนุษย์ได้พยายามพัฒนาทั้งวิธีการจัดส่งและเทคโนโลยีในการจัดส่ง การเพิ่มความเร็วด้วยการปรับปรุงวิธีการจัดส่งจากรูปแบบของการเดินทางมาเป็นม้า รถ และเครื่องบินตามลำดับนั้น จนกระทั่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมซึ่งก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ เช่น บริการโทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์ และด้วยเทคโนโลยีโทรคมนาคมดังกล่าว มนุษย์สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารถึงกันได้ทั่วโลก และแม้กระทั่งจากนอกโลกได้ เช่น การติดต่อสื่อสารระหว่างยานอวกาศกับสถานีภาคพื้นดินในเวลาที่รวดเร็วมาก จนกระทั่งอาจจะกล่าวได้ว่าผู้รับข่าวสารได้รับข่าวสารในเวลาเดียวกันกับที่ผู้ส่งข่าวสารได้เริ่มส่งข่าวสาร
การพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ได้กล่าวมาเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2384 ถึง พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1841 – 1970) อย่างไรก็ดี การพัฒนาเทคโนโลยีในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นไปในลักษณะของการวิวัฒนาการและค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นปีที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในสังคมธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ อาจกล่าวได้ว่าเป็นปีที่มองเห็นการเคลื่อนตัวของสังคมมนุษย์จากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมไปเป็นยุคข่าวสารข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับบริการใหม่ๆ เช่น เครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต สื่อผสม (Multimedia) เส้นใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีราคาถูกและมีประสิทธิภาพดีกว่า จากการใช้ยากมาเป็นใช้ง่าย ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เทคโนโลยีโทรคมนาคมเกิดการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วย
บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคโลกาภิวัตน์
จอห์น ไนซ์บิตต์ ผู้พยากรณ์สังคมได้เขียนหนังสือเรื่อง Megatrends 2000 โดยกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหม่ทางสังคมโลกว่า เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีลักษณะการกระจายแบบทุกทิศทาง และมีระบบตอบสนองอย่างรวดเร็ว และยังสื่อสารแบบสองทิศทาง ด้วยเหตุนี้ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมจึงแตกต่างจากในอดีตมาก ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจจากประเทศหนึ่งมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ผลของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน แนวโน้มที่สำคัญที่เกิดจากเทคโนโลยีที่สำคัญและเป็นที่กล่าวถึงกันมาก มีหลายประการ
เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมสารสนเทศ ซึ่งในอดีตสังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกจากสังคมความเป็นอยู่แบบเร่ร่อนมาเป็นสังคมเกษตรที่รู้จักกับการเพาะปลูกและสร้างผลิตผลทางการเกษตร ทำให้มีการสร้างบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง ต่อมามีความจำเป็นต้องผลิตสินค้าให้ได้ปริมาณมากและต้นทุนถูก จึงต้องหันมาผลิตแบบอุตสาหกรรม ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงมาเป็นสังคมเมือง มีการรวมกลุ่มอยู่อาศัยเป็นเมือง มีอุตสาหกรรมเป็นฐานการผลิต จนมาถึงปัจจุบันซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสารสนเทศ โดยคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารมีบทบาทมากขึ้น มีการใช้เครือข่าย เช่น อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำงานต่าง ๆ เกิดคำใหม่ว่า “ไซเบอร์สเปซ (Cyberspace)” มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ใน ไซเบอร์สเปซ เช่น การพูดคุย การซื้อสินค้าและบริการ การทำงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดสภาพเสมือนจริงมากมาย อาทิ ห้องสมุดเสมือนจริง ห้องเรียนเสมือนจริง ที่ทำงานเสมือนจริง
เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเทคโนโลยีแบบสุนทรียสัมผัสและตอบสนองตามความต้องการ ซึ่งแต่เดิมการใช้เทคโนโลยีเป็นแบบบังคับ เช่น การดูโทรทัศน์ วิทยุ เมื่อเปิดเครื่องรับโทรทัศน์ จะไม่สามารถเลือกตามความต้องการได้ ถ้าสถานีส่งสัญญาณใดมาก็จะต้องชม หากไม่พอใจก็ทำได้เพียงเลือกสถานีใหม่ แนวโน้มจากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เรียกว่า on demand เช่น เมื่อต้องการชมภาพยนตร์เรื่องใดก็สามารถเลือกชมและดูได้ตั้งแต่ต้นรายการ หากจะศึกษาหรือเรียนรู้ก็มี education on demand คือสามารถเลือกเรียนตามต้องการได้ การตอบสนองตามความต้องการเป็นหนทางที่เป็นไปได้เพราะเทคโนโลยีมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าจนสามารถนำระบบสื่อสารมาตอบสนองตามความต้องการของมนุษย์ได้
เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสภาพทางการทำงานแบบทุกสถานที่และทุกเวลา โดยการโต้ตอบผ่านระบบเครือข่าย อาทิ วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ระบบประชุมบนเครือข่าย ระบบ Tele-educationระบบการค้าบนเครือข่าย (E-commerce) ลักษณะของการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ทำให้ขยายขอบเขตการทำงานไปทุกหนทุกแห่งและดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เห็นได้จากตัวอย่างที่มีมานานแล้ว เช่น ระบบเอทีเอ็ม ทำให้การเบิกจ่ายได้เกือบตลอดเวลา และกระจายไปใกล้ตัวผู้รับบริการมากขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น การบริการจะกระจายมากยิ่งขึ้นจนถึงที่บ้าน ในอนาคตสังคมการทำงานจะกระจายจนงานบางงานอาจนั่งทำที่บ้านหรือที่ใดก็ได้ และเวลาใดก็ได้
เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนจากระบบแห่งชาติไปเป็นเศรษฐกิจโลก ความเกี่ยวโยงของเครือข่ายสารสนเทศทำให้เกิดสังคมโลกาภิวัตน์ ระบบเศรษฐกิจซึ่งแต่เดิมมีขอบเขตจำกัดภายในประเทศ ก็กระจายเป็นเศรษฐกิจโลก ทั่วโลกจะมีกระแสการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนสินค้าบริการอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนเอื้ออำนวยให้การดำเนินการมีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ระบบเศรษฐกิจของโลกจึงผูกพันกับทุกประเทศ และเชื่อมโยงกันแนบแน่นขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้องค์กรมีลักษณะผูกพัน หน่วยงานภายในเป็นแบบเครือข่ายมากขึ้น แต่เดิมการจัดองค์กรมีการวางเป็นลำดับขั้น มีสายการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง แต่เมื่อการสื่อสารแบบสองทางและการกระจายข่าวสารดีขึ้น มีการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในองค์กรผูกพันกันเป็นกลุ่มงาน มีการเพิ่มคุณค่าขององค์กรด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดโครงสร้างขององค์กรจึงปรับเปลี่ยนจากเดิม และมีแนวโน้มที่จะสร้างองค์กรเป็นเครือข่ายที่มีลักษณะการบังคับบัญชาแบบแนวราบมากขึ้น หน่วยธุรกิจจะมีขนาดเล็กลง และเชื่อมโยงกันกับหน่วยธุรกิจอื่นเป็นเครือข่าย สถานะภาพขององค์กรจึงต้องแปรเปลี่ยนไปตามกระแสของเทคโนโลยี เพราะการดำเนินธุรกิจต้องใช้ระบบสื่อสารที่มีความรวดเร็ว ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว
เทคโนโลยีสารสนเทศก่อให้เกิดการวางแผนการดำเนินการระยะยาวขึ้น อีกทั้งยังทำให้การตัดสินใจหรือเลือกทางเลือกได้ละเอียดขึ้น แต่เดิมการตัดสินปัญหาอาจมีหนทางให้เลือกได้น้อย เช่น มีคำตอบเดียว ใช่และไม่ใช่ แต่ด้วยข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนการตัดสินใจ ทำให้วิถีความคิดในการตัดสินปัญหาเปลี่ยนไป ผู้ตัดสินใจมีทางเลือกได้มากขึ้น มีความละเอียดอ่อนในการตัดสินปัญหาได้ดีขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศ ในปัจจุบันทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั่วโลกทำได้สะดวกมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการรับชมข่าวสาร รายการโทรทัศน์ที่ส่งกระจายผ่านดาวเทียมของประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก สามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันทีที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสื่อสารระหว่างกันและติดต่อกับคนได้ทั่วโลก จึงเป็นที่แน่ชัดว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจึงมีลักษณะเป็นสังคมโลกมากขึ้น
เเหล่งที่มา http://www.baanjomyut.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น